อาณาจักรเหรียญกษาปณ์ทองคำ

บทความ

พระกริ่งคุ้มเกล้า ปี2522 ครบ 30ปี โรงพยาบาลภูมิพลอดุลยเดช

29-06-2560 10:48:09น.

พระกริ่งคุ้มเกล้า

ที่ระลึก 30 ปี โรงพยาบาลภูมิพลอดุลยเดช

พุทธศักราช 2522 ในวาระที่โรงพยาบาลภูมิพลอดุลยเดช เปิดให้บริการมาครบ 30 ปี กองทัพอากาศได้ดำเนินโครงการจัดสร้างอาคารอุบัติเหตุและฉุกเฉิน ขนาดความสูง 12 ชั้น พร้อมอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่ทันสมัยและมีชั้นดาดฟ้าเป็นลาดจอดเฮลิคอปเตอร์สำหรับลำเลียงผู้ป่วยทางอากาศในกรณีเร่งด่วน และได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯพระราชทานนามอาคารนี้ว่า คุ้มเกล้าฯ และให้ชื่อมูลนิธิว่า คุ้มเกล้าฯ ทั้งนี้ทรงรับมูลนิธิคุ้มเกล้าฯไว้ในพระบรมราชูปถัมภ์ และด้วยแรงพลังแห่งศรัทธาที่ก่อเป็นพลังแห่งความสามัคคีในการร่วมแรงร่วมใจ เสียสละทรัพย์สินของประชาชนชาวไทยทั่วประเทศ ที่มีส่วนร่วมในการจัดสร้างอาคารแห่งนี้ เพื่อน้อมเกล้าฯถวายเป็นพระราชกุศลแด่องค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช

ย้อนหลังไปปีพุทธศักราช 2484 ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระอานันทมหิดล รัชกาลที่ 8 ได้ทรงพระราชทานทรัพย์สินส่วนพระองค์ เพื่อใช้เป็นทุนในการก่อสร้างสถานที่ตรวจรักษาพยาบาลและการแพทย์ของกองทัพอากาศ ซึ่งทางกองทัพอากาศได้จัดซื้อที่ดินเป็นเนื้อที่ 280 ไร่ 3 งาน 56 ตารางวา เป็นจำนวนเงินทั้งสิน 12,803.33 บาท และยังคงเหลือพระราชทรัพย์อีก 17,193.67 บาท เป็นค่าก่อสร้างอาคารสถานที่ทำการ นับเป็นจุดเริ่มต้นครั้งแรกแต่ยังไม่ทันลงมือก่อสร้าง สงครามโลกครั้งที่ 2 ก็อุบัติขึ้นในปลายปีนั้น

จนเมื่อพุทธศักราช 2488 สงครามจึงยุติลง โครงการก่อสร้างอาคารดังกล่าวจึงได้เริ่มต้นขึ้นอีกครั้ง เมื่อมีการสร้างอาคารหลังแรก ในชื่อ โรงพยาบาลทหารอากาศ ซึ่งต่อมาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชได้พระราชทานพระปรมาภิไธยให้ใช้ชื่อโรงพยาบาลแห่งนี้ว่า โรงพยาบาลภูมิพลอดุยเดช

ในการจัดหาทุนดำเนินการก่อสร้างอาคารอุบัติเหตุแห่งใหม่นี้ นอกจากจะได้วิธีการออกสลาก คุ้มเกล้าฯที่นับได้ว่าแปลกใหม่สร้างความสนใจให้กับประชาชนได้มากในขณะนั้น กองทัพอากาศยังได้ทำการจัดสร้างวัตถุมงคลขึ้นเพื่อเป็นการสมนาคุณ แก่ผู้ที่มีจิตศรัทธาที่ร่วมสนับสนุนในการครั้งนี้ ซึ่งประกอบด้วย

        1.พระพุทธศิรมงคล พระพุทธรูปบูชาขนาดหน้าตักกว้าง 5 นิ้ว และ 9 นิ้ว

2.พระกริ่งศิรากาศ เนื้อทองคำ เนื้อเงิน และเนื้อนวะโลหะ

3.เหรียญพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ อัญเชิญพระปรมาภิไธยย่อ ภปร พร้อมสัญญลักษณ์มหามงกุฎ ประดิษฐานด้านหน้าที่ผ้าทิพย์ของพระพุทธรูปบูชาและพระกริ่ง

ด้านหลังปรากฏสัญญลักษณ์ งูพันคฑาติดปีก ซึ่งเป็นสัญญลักษณ์ของหน่วยแพทย์ทหารอากาศ

สำหรับเหรียญพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้ช่างในพระองค์เป็นผู้ปั้นแบบเหรียญพระบรมรูป ซึ่งปรากฏด้านหน้าเป็นพระบรมฉายาลักษณ์ ด้านหลังเป็นพระปรมาภิไธยย่อ ภปร พร้อมสัญญลักษณ์มหามงกุฎ ซึ่งเป็นสัญญลักษณ์ประจำพระองค์

การดำเนินการจัดสร้างวัตถุมงคลอันศักดิ์สิทธิ์ในครั้งนี้ ได้ดำเนินการตรงตามขั้นตอนแต่โบราณเพื่อให้สุขสมบูรณ์เปี่ยมไปด้วย พุทธคุณ สอดคล้องกับความหมายของคำว่า คุ้มเกล้าฯ จึงได้มีการจัดพิธีอย่างปราณีตตรงตามขั้นตอนต่างๆ ดังนี้

พิธีลงอักขระแผ่นทอง เงิน นาค

สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราชฯ ทรงเป็นองค์ประธาน พร้อมด้วยสมเด็จพระราชาคณะและพระเถระผู้ใหญ่รวม 60 รูป ณ อุโบสถวัดราชบพิตรสถิตมหาสีมาราม ทำพิธีลงอักขระทอง เงิน นาค เป็นปฐมฤกษ์ เมื่อวันที่ 12 สิงหาคม พุทธศักราช 2526 หลังจากนั้นได้นำแผ่นทอง เงิน นาค ทั้งหมดให้พระเถราจารย์ ผู้ทรงคุณทั่วประเทศ จารึกอักขระครบ 1250 รูป โดยมีตัวอย่างรายนาม ดังนี้

หลวงปู่แหวน สุจิณโณ วัดดอยแม่ปั๋ง จ.เชียงใหม่

ลงอักขระเมื่อวันที่ 19 สิงหาคม พ.ศ. 2526

หลวงปู่พรหมจักร์ วัดพระพุทธบาทตากผ้า จังหวัดลำพูน

พระราชวุฒาจารย์(หลวงปู่ดุลย์) วัดบูรพาจารย์ จ.สุรินทร์

หลวงพ่อแพ วัดพิกุลทอง จ.สิงห์บุรี

หลวงพ่ออุตตมะ วัดวังก์วิเวการาม จ.กาญจนบุรี

พระครูพิศาลพัฒนกิจ(หลวงพ่อรอด) วัดประดู่พัฒนาราม จ.นครศรีธรรมราช

พิธีเททอง

        พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถ พร้อมด้วยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาสยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนิน เททองหล่อพระพุทธรูป ณ วัดดอยแม่ปั๋ง จ.เชียงใหม่ เมื่อวันจันทร์ที่ 16 มกราคม พุทธศักราช 2527 ซึ่งตรงกับวันที่หลวงปู่แหวนสุจิณโณ มีอายุครบ 97 พรรษา โดยมีสมเด็จพระสังฆราช พร้อมด้วยพระเถระผู้ใหญ่ผู้ทรงคุณอีก 9 รูปเจริญชัยมงคลคาถา

พิธีชัยมังคลาภิเษก

        วันที่ 5 ธันวาคม พุทธศักราช 2526 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถ พร้อมด้วยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาสยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินทำพิธีเททองหล่อพระพุทธรูป และทำพิธีหลอมแผ่นทอง นาค เงิน ที่ได้ลงอักขระ เพื่อเป็นชนวนในการสร้างพระกริ่ง คุ้มเกล้าฯณ วัดดอยแม่ปั๋ง จ.เชียงใหม่ เมื่อวันจันทร์ที่ 16 มกราคม พุทธศักราช 2527 ซึ่งตรงกับวันที่หลวงปู่แหวนสุจิณโณ มีอายุครบ 97 พรรษา โดยมีสมเด็จพระสังฆราช พร้อมด้วยพระเถระผู้ใหญ่ผู้ทรงคุณอีก 9 รูปเจริญชัยมงคลคาถา

พิธีพุทธาภิเษก

        พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงจุดไฟพระฤกษ์ ณ พระราชอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม วันที่ 6 เมษายน พุทธศักราช 2526 จากนั้นเจ้าหน้าที่ได้ทำการอัญเชิญไฟพระฤกษ์เข้าขบวนแห่มายังปะรำพิธี ณ มณฆลท้องสนามหลวง จากนั้นในเวลา 19.19 น. สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราชสกลสังฆปรินายก ได้เสด็จมาจุดเทียนจากไฟพระฤกษ์ (เป็นการเริ่มต้น) พิธีพุทธาภิเษก ทั้งนี้ได้โยงสายสิญจน์ จากอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม และได้ทำการนิมนต์พระเถราจารย์ 108 รูปจากทั่วประเทศ ผลัดเปลี่ยนนั่งปรกอธิษฐานจิตตลอด 4 วัน 4 คืน

        จนถึงรุ่งอรุณของวันที่ 10 เมษายน จึงได้เชิญเสด็จสมเด็จพระญาณสังวร ดับเทียนชัยเป็นอันเสร็จพิธีพุทธาภิเษก ทั้งนี้นับว่าในการจัดสร้างวัตถุมงคลในคราวนี้ได้มีการประกอบพิธีการจัดสร้างที่สมบูรณ์ยิ่งใหญ่และยาวนานเป็นประวัติการณ์ที่สุดที่เคยปรากฏมาในขณะนั้น

พิธีวางศิลาฤกษ์

        การจัดพิธีวางศิลาฤกษ์การก่อสร้างอาคารแห่งนี้ ได้กำหนด ณ จุดที่จะสร้างพระแท่นสำหรับประดิษฐานพระบรมสาทิสลักษณ์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งหลังจากการคำนวณอย่างถ้วนถี่ปรากฎว่าอยู่บริเวณในห้องโถง อาคาร 1 พอดี

การกำหนดวันเวลาในการทำพิธี

        การหาฤกษ์ในการทำพิธีใหญ่ๆในช่วงเวลาระหว่างเดือนมีนาคม-เมษายน พ.ศ. 2523 นั้น ผู้เชี่ยวชาญในทางโหราศาสตร์หลายท่าน ต่างมีความเห็นคล้ายกันว่า การหาฤกษ์ที่เหมาะสมนั้นแทบไม่มีเลย หรือที่มีก็เป็นช่วงเวลาที่ไม่สะดวกแก่การประกอบพิธี เช่นเวลาเช้ามืด เป็นต้น

        พลโท ชลิต จุลโมกข์ เจ้ากรมแพทย์ทหารอากาศในขณะนั้น ได้แก้ปัญหานี้ด้วยความอุตสาหะพากเพียร และประสบความสำเร็จอย่างน่าชื่นชม ในที่สุดฤกษ์ที่ได้มาคือ วันพฤหัสบดีที่ 27 มีนาคม พ.ศ. 2523 เวลา 5.59 น. แม้ว่าจะเป็นเวลาค่อนข้างเช้า แต่ก็ไม่เป็นปัญหานัก เพราะในช่วงปลายเดือนมีนาคมนั้น พระอาทิตย์ขึ้นเร็ว เวลา 5.59 น. จึงสว่างมากแล้ว อนึ่งวันที่ 27 มีนาคม ยังเป็นวันสำคัญ คือเป็นวันกองทัพอากาศ และบังเอิญเป็นวันพฤหัสบดี อันเป็นวันครูอีกด้วย จึงนับเป็นฤกษ์ดีหลายขั้น

        เมื่อมีผู้เรียนถามท่านเจ้ากรมแพทย์ทหารอากาศว่า พระอาจารย์ท่านใดเป็นผุ้ให้ฤกษ์นี้ ท่านยิ้มและตอบว่า ด้วยเหตุผลบางประการ จึงขอไม่เปิดเผยชื่อพระอาจารย์ท่านนั้น และการณ์ก็ได้พิสูจน์แล้วว่า ฤกษ์นั้นเป็นมหาฤกษ์ เพราะทุกสิ่งทุกอย่างดำเนินไปด้วยความราบรื่น การสร้างพระบรมสาทิสลักษ์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และการสร้างอาคารคุ้มเกล้าฯสำเร็จด้วยดีทุกประการ

 

        ในวันพุธที่ 3 เมษายน พ.ศ. 2528 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จพระราชดำเนินมายังโรงพยาบาลภูมิพลอดุลยเดช ทรงรับการน้อมเกล้าฯถวายอาคารคุ้มเกล้าฯและพระราชทานอาคารดังกล่าวแก่โรงพยาบาลภูมิพลฯ เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงในการรักษาพยาบาลผู้ป่วยอุบัติเหตุควบคู่กันไป อาคารหลังนี้ตามที่กำหนดไว้มีความสูง 12 ชั้น ในส่วนอาคาร 3 ชั้นล่างมีความกว้างด้านหน้า 150 เมตร ส่วนอีก 9 ชั้น มีความกว้างประมาณ 75 เมคร นับเป็นอีกหนึ่งของการร่วมแรงร่วมใจของคนไทยทั้งประเทศ เพื่อดำเนินการในการสร้างคุณประโยชน์ให้สำเร็จลุล่วงไปจนเป็นอาคารที่ให้การรักษาพยาบาลช่วยบรรเทาทุกข์ให้กับประชาชนได้อย่างมากมายจนถึงทุกวันนี้